ก่อนเขียนโฆษณา คุณต้องรู้สิ่งนี้ก่อน! ไม่งั้นอย่าหวังว่าจะขายออก
เขียนโฆษณาแล้วเงียบ ไม่มีคนสนใจ เขียนโฆษณาแล้วเหมือนกับป้อนขยะเข้าสู่โลกออนไลน์ เขียนโฆษณาจูงใจไปทั้งหมดแล้ว “ซื้อสินค้าจากเราจะไม่ผิดหวัง” “สินค้าของเรามีคุณภาพ” อย่างโน่นอย่างนี้ ไม่ได้เกิดผลเลย พาลมาด่าตนเองว่า ฝีมือการเขียนโฆษณาไม่ถึง ไม่มีหัวทางด้านนี้บ้างเป็นต้น ผมอยากให้คุณใจเย็นๆ แล้วกลับมาทบทวนสิ่งที่ผมกำลังจะบอกคุณอยู่ตอนนี้ว่า ” การเขียนโฆษณาของคุณเน้นในเรื่องการกระตุ้นอารมณ์ในการซื้อ “ หรือไม่?
“คุณไม่สามารถเขียนโฆษณาเพื่อให้เกิดความสนใจได้หรอกครับ หากคุณไม่สามารถที่จะเขียนจูงใจ และกระตุ้นอารมณ์ และจิตใจของคนอ่านให้เขาลงมือปฏิบัติได้” ฉะนั้นในตอนนี้ผมขอให้คุณคิดใหม่ทำใหม่ ก่อนที่จะเขียนโฆษณาว่า “ผู้อ่านโฆษณาซื้อสิ่งนั้นทำไม” ไม่ใช่ “จะซื้ออะไร”
คุณจะต้องเขียนโฆษณาเพื่อกระตุ้นความอยากทางอารมณ์ เท่านั้น เพราะคนทั่วไปเกือบ 90% บนโลกใบนี้จะซื้อสินค้าด้วยอารมณ์ล้วนๆ หรือหากเขาบอกว่า เขาซื้อสินค้าเพราะเหตุผล สุดท้ายเขาก็จะใช้อารมณ์เป็นตัวตัดสินใจอยู่ดีในการตัดสินใจซื้อสิ่งนั้น เราเรียกสิ่งนี้ว่า “ความอยากทางอารมณ์” นั่นเองครับ ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ เกี่ยวกับการเขียนโดยใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ
ผมขอยกตัวอย่างการเขียนโฆษณาขายยาสีฟัน ก็แล้วกัน คุณอาจจะเขียนโฆษณาว่า “ยาสีฟันยี่ห้อ…ทำให้ลมหายใจหอม เย็นสดชื่น” ซึ่งเป็นการเขียนข้อความโฆษณาที่เป็นการดึงดูดใจในความคิดของคุณเอง แต่สำหรับกลุ่มเป้าหมายของคุณหากอ่านแล้ว ก็เฉยๆ ครับ ยาสีฟันยี่ห้อไหน ก็เย็นๆ ทำให้ลมหายใจหอมสดชื่นทั้งนั้น คราวนี้ลองเปลี่ยนใหม่ “แย่มากไหมหากคุยกับคนที่คุณรักแล้วเกิดกลิ่นปากแบบร้อนๆ เหม็นๆ คนรักคุณแทบจะเป็นลม คุณไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคุณใช่ไหม” เป็นไงล่ะครับโฆษณาอันไหนที่กระตุ้นอารมณ์ให้อยากใช้ยาสีฟันมากกว่ากัน คงไม่ต้องบอกน่ะครับ
และที่สำคัญ การเขียนโฆษณาเพื่อดึงดูดใจ จูงใจ ด้านอารมณ์ กับกลุ่มเป้าหมายของคุณนั้น จะต้องเขียนโฆษณาในความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่ความต้องการของคุณ คิดถึงความต้องการ ความรู้สึก ของกลุ่มเป้าหมายที่อ่านให้มากๆ เพราะคุณกำลังเขียนโฆษณาให้ลูกค้าอ่าน ไม่ใช่ให้ตัวคุณเองอ่าน โปรดระมัดระวัง
“เราทุกคนต้องการซื้อสิ่งที่เราอยากได้ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ” ท่องไว้ให้ขึ้นใจ ความอยาก ความต้องการทางอารมณ์เป็นแรงจูงใจ เป็นกระตุ้นชั้นดี อันทรงพลังที่ช่วยทำให้การเขียน บทความโฆษณา หรือแม้กระทั่งการเขียนคอนเทนต์ทรงพลังมากขึ้น เชื่อว่าหากคุณเปลี่ยนการเขียนโฆษณาตามแนวทางเดิมๆ มาใช้แนวทางแบบเน้นการกระตุ้นทางอารณ์ ข้อความโฆษณาของคุณจะมีอิทธิพลมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
และสิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างหนึ่ง ที่ผู้เขียนโฆษณาพลาดกันก็คือ การได้เขียนโฆษณาที่กระตุ้นอารมณ์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการซื้อแล้ว แต่สินค้านั้น ไม่ได้ตอบสนองอารมณ์ตามที่คุณได้เขียนไว้ นี่เป็นอีกข้อหนึ่งซึ่งคุณต้องจำไว้ให้แม่นว่า “กลุ่มเป้าหมายจะเอาอารมณ์เป็นตัวนำในการตัดสินใจซื้อ แต่กลุ่มเป้าหมายก็ยังคงต้องการเสริมสร้างความสมเหตุสมผลให้กับการซื้อของเขาในภายหลังเสมอครับ” ฉะนั้นอย่ามุ่งจูงใจอารมณ์ด้วยการเขียนโฆษณาอย่างเดียว ควรจะต้องพิจารณาความสมเหตุสมผลของบทความโฆษณาของคุณกับสินค้าและบริการที่คุณขายด้วยเสมอครับ
จากนี้ไปคุณต้องตรวจสอบ บทความโฆษณาของคุณให้แน่ใจ ก่อนที่จะปล่อยออกไปว่า ข้อความโฆษณาของคุณนั้น มีการนำเสนอครบทั้งในแง่ของอารมณ์ และเหตุผลครบถ้วนในทุกๆ บทความโฆษณาของคุณ
คุณลองเขียนโฆษณาด้วยการนำอารมณ์ นำหน้าเหตุผลร้อยแปดพันประการของสินค้า และบริการที่ขายดู แล้วการเขียนโฆษณาของคุณจะทรงพลังมากขึ้น